Masks for veterans: หน้ากากเพื่อทหารผ่านศึก

  • เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารที่ไปรบหลายนายกลับมาพร้อมกับความพิการและมีใบหน้าที่ผิดรูปไปจากเดิม ทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าสังคมหรือคนรอบตัวไม่สบายใจที่จะอยู่ด้วย หน้ากากที่ใช้ปกปิดและทดแทนใบหน้าส่วนที่เสียหายจึงเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหา
  • แอนนา โคลแมน แลดด์ ประติมากรชาวอเมริกันได้จัดตั้งสตูดิโอร่วมกับกาชาดสหรัฐขึ้นในกรุงปารีสเพื่อทำหน้ากากเสมือนจริงให้แก่เหล่าทหารผ่านศึก โดยใช้โลหะแผ่นบางทางสีให้ใกล้เคียงกับสีผิวและใบหน้าปกติให้มากที่สุด
  • ผลงานหน้ากากสำหรับทหารผ่านศึกของแอนนา โคลแมน แลดด์ทำให้ทหารหลายนายมีชีวิตที่ดีขึ้น และเธอได้รับการเชิดชูเกียรติถึงชั้นอัศวินจากรัฐบาลฝรั่งเศสในเวลาต่อมาอีกด้วย

แอนนา โคลแมน วัตต์ แลดด์ (Anna Coleman Watts Ladd, 1878 –1939) เกิดในบอสตัน สหรัฐอเมริกา เธอเติบโตในปารีส เรียนด้านศิลปะที่บอสตัน และเคยอาศัยอยู่ในประเทศที่เต็มไปด้วยงานศิลปะอย่างอิตาลีนานถึงสิบสองปี ไม่เพียงแต่เป็นศิลปินหญิงที่มีผลงานด้านประติมากรรมที่โดดเด่นและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมศิลปินในบอสตัน เธอยังสร้างสรรค์งานที่ทำให้ทหารผ่านศึกช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่พิการสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติมากขึ้นด้วย การทำหน้ากากเพื่อปิดบังส่วนที่เสียโฉมอาจฟังดูง่าย แต่แท้จริงแล้วเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ร่วมกัน ผลงานที่เธอทำร่วมกับแพทย์ทำให้เธอได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศสด้วย

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุด ทหารที่ถูกเกณฑ์ไปรบหลายนายกลับมาพร้อมกับความพิการและความเสียหายทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นเพราะระเบิด สะเก็ดระเบิด ปืน อาวุธสงครามอื่น ๆ รวมถึงก๊าซและสารเคมีที่ใช้ในการสู้รบ บางคนสูญเสียอวัยวะ บางคนมีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่หลงเหลือจากการผ่าตัดหรืออาการบาดเจ็บ ความสูญเสียทางร่างกายในยุคที่การศัลยกรรมตกแต่งยังไม่ก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบันได้ส่งผลต่อจิตใจของหลายคน เพราะการเสียอวัยวะและการมีใบหน้าที่ผิดรูปไปจากเดิมทำให้เกิดความลำบากในการเข้าสังคม ขณะเดียวกันปัญหาที่ทหารผ่านศึกต้องเผชิญก็เป็นที่มาของนวัตกรรมหลายอย่างเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ได้รับความเสียหายจากสงคราม หน้ากากของแอนนาก็เป็นหนึ่งในนั้น

ความจริงแล้ว แอนนาไม่ใช่คนแรกและคนเดียวที่มีแนวคิดในการทำหน้ากากหรืออุปกรณ์ปิดบังส่วนที่เสียหายของใบหน้าให้ดูเป็นปกติหรือดูกลมกลืนกับคนอื่นมากพอจะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ เพราะในปี 1917 ฟรานซิส เดอร์เวนท์ วู้ด (Frances Derwent Wood) ประติมากรชาวอังกฤษ ได้เปิดร้านที่ลอนดอนซึ่งรู้จักในนาม ‘tin nose shop’ หรือร้านจมูกสังกะสี เพื่อทำหน้ากากสังกะสีสำหรับทหารในประเทศอังกฤษ และแอนนาก็ได้ทำการปรึกษากับวู้ดมาก่อนหน้าที่เธอกับสามี คือ นายแพทย์เมย์นาร์ด แลดด์จะมาเปิดสตูดิโอทำหน้ากากสำหรับทหารผ่านศึกขึ้นในปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีกาชาดสหรัฐเป็นผู้บริหารจัดการ และมีศิลปินคนอื่น ๆ ร่วมทำงานด้วยอีกสี่คนเนื่องจากเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านศิลปะในการสร้างสรรค์และทำให้พอดีกับใบหน้าของทหารผ่านศึก

หน้ากากของแอนนาทำจากวัสดุที่มีความบางและคงทน เช่น สังกะสีเคลือบอีนาเมลหรือผงแก้วผสมสี โดยลงสีให้ใกล้เคียงกับสีผิวและสีดวงตาจริงของเจ้าของใบหน้า การทำหน้ากากจะเริ่มจากการหล่อแบบจากใบหน้าของทหารผ่านศึกโดยใช้ปูนปลาสเตอร์ เพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำ จากนั้นก็จะพิมพ์แบบหน้ากากโลหะขึ้นจากรูปหล่อใบหน้า และให้เจ้าของหน้ากากลองสวมใส่ไปพร้อมกับลงสีและเทียบสีให้เข้ากับสีผิวจริง ส่วนที่เป็นขนตา คิ้ว ผม และหนวดทำมาจากผมจริง แบะเพื่อให้สวมใส่ได้สะดวก หน้ากากแบบเต็มหน้าหรือหน้ากากแบบบางส่วนจะหล่อติดกับแว่นตาหรือใส่ริบบิ้นสำหรับผูก หน้ากากดังกล่าวก็จะปกปิดส่วนที่ขาดหายไปจากใบหน้าหรือส่วนที่บิดเบี้ยวผิดรูปไปจากปกติ หน้ากากที่ครอบส่วนบริเวณปากก็จะมีการเจาะช่องเอาไว้เพื่อให้ผู้สวมใส่สามารถสูบบุหรี่หรือไปป์ได้สะดวก และใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติอย่างที่เคยทำ

แม้ว่าจะสามารถปิดบังใบหน้าและทำให้ทหารผ่านศึกที่เสียโฉมดูไม่ต่างจากคนที่มีใบหน้าปกติมากนัก แต่หน้ากากเหล่านี้ก็มีปัญหาบางอย่างเช่นกัน คือ ไม่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้แบบหน้าปกติ ลูกของทหารผ่านศึกษาบางคนเห็นแล้วก็เกิดกลัวพ่อของตัวเองขึ้นมาบ้างก็มี และมีปัญหาในเรื่องสวมใส่ไม่สบาย เพราะสังกะสีถูกับผิวเนื้อปกติ ทำให้ทหารบางส่วนไม่สามารถใส่หน้ากากต่อไปได้ และใช้วิธีเอาผ้าพันคอปิดหรือบังส่วนที่ผิดปกติแทน แม้บางคนจะมีปัญหา แต่หลายคนก็พอใจกับหน้ากากที่แอนนาและศิลปินในสตูดิโอทำให้ และได้ส่งจดหมายขอบคุณพวกเธอกลับมาด้วย

ไม่เพียงแต่ทหารผ่านศึกเท่านั้นที่มีโอกาสได้ทำหน้ากากสำหรับสวมใส่ปิดบังความผิดปกติ พลเรือนธรรมดาที่มีความพิการหรือความผิดปกติทางใบหน้าก็สามารถมาใช้บริการที่สตูดิโอของแอนนาได้ด้วยเช่นกัน ตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินการ แอนนาทำหน้ากากขึ้นร่วมร้อยชิ้น

จากผลงานที่ได้สร้างสรรค์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทหารผ่านศึกษา แอนนา โคลแมน แลดด์ได้รับ Légion d’Honneur Crois de Chevalier จากรัฐบาลฝรั่งเศสและ Serbian Order of Saint Sava จากรัฐบาลเซอร์เบียเพื่อเชิดชูเกียรติในสิ่งที่เธอได้ทำ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในปารีสแล้ว แอนนากับนายแพทย์เมย์นาร์ด แลดด์ สามีของเธอก็เกษียณจากงาน กลับสหรัฐอเมริกา และใช้ชีวิตบั้นปลายที่แคลิฟอร์เนียจนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1939

ดูวิธีการทำหน้ากากของแอนนา โคลแมน แลดด์ได้จากคลิปนี้

References:

  1. Anna Coleman Watts Ladd
  2. Anna Coleman Ladd: American sculptor who created facial prosthetics for mutilated soldiers in WWI
  3. Anna Coleman Ladd: The Woman Who Gave Back Self-Esteem To Mutilated Soldiers With Facial Prosthetics
  4. Faces of War
  5. Mutilation and Disfiguration
  6. Anna Coleman Ladd’s Studio for Portrait Masks in Paris

Written by Piyarak

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply