เราทุกคนคือคิมจียอง จากปลายปากกาสู่ภาพยนตร์ Kim Ji-Young Born 1982 สะท้อนความเจ็บปวดบนสังคมชายเป็นใหญ่

หลายคนอาจจะเคยได้ยินหนังสือชื่อ คิมจียอง เกิดปี 82 มาก่อน หากมีโอกาสได้เปิดหนังสือเล่มนี้อ่านก็คงจะพอนึกออกว่าเนื้อเรื่องเป็นไปในทางไหน และ NYLON ก็เคยได้แนะนำหนังสือเรื่องนี้ไว้เหมือนกัน (#Girlsread: คิมจียอง เกิดปี 82) จนตอนนี้มีอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ชอบการเล่าเรื่องผ่านภาพ กับภาพยนตร์เรื่อง Kim Ji-Young Born 1982 ที่นำแสดงโดย จอง ยูมี และ กงยู

เนื้อเรื่องในภาพยนตร์ไม่ต่างจากหนังสือเท่าไรนัก เรื่องราวของความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมถูกถ่ายทอดออกมาให้เราได้สัมผัสถึงความเจ็บปวดของ คิม จียอง ผู้มีบทบาทในชีวิตทั้งการเป็นลูกสาว ภรรยา และคุณแม่ ที่ถูกสังคมกดดันต่างๆ นานา ว่าเมื่ออยู่ในบทบาทหน้าที่เหล่านี้ เธอควรเสียสละสิ่งที่ควรจะได้ให้กับสามีและลูกสาวที่น่ารักถึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่ดี หากเคยได้อ่านหนังสือมาก่อนแล้วการไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้ภาพในหัวที่เราจินตนาการในตอนที่อ่านนั้นชัดเจนมากขึ้น แน่นอนว่าถ้าเคยน้ำตาซึมในระหว่างที่อ่านหนังสือมาแล้วก็อย่าลืมเตรียมทิชชู่หรือผ้าเช็ดหน้าไปด้วยล่ะ แม้ว่าบทภาพยนตร์จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก็ถูกทำให้กลมกล่อมขึ้นกับบทบาทของ จอง แดฮยอน สามีของ คิม จียอง อีกหนึ่งตัวละครที่ทำให้เรารู้สึกถึงความเจ็บปวดของ คิม จียองได้มากยิ่งขึ้น

ภาพยนตร์เล่าเรื่องปัจจุบันสลับกับเรื่องในอดีตไปมา แต่ไม่มากเท่าเนื้อหาในหนังสือ ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตปัจจุบันที่จียองต้องพบเจอ และได้ย้อนกลับไปถึงวันวานจากเหตุการณ์บ้างอย่างที่ทำให้เธอต้องหวนนึกถึง ได้เห็นว่าความไม่ยุติธรรมของสังคมระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในอดีตกับปัจจุบันนั้นไม่ได้ต่างกันแม้ว่าเรื่องราวที่ย้อนกลับไปจะเป็นช่วงที่จียองยังเป็นเด็กสาวก็ตาม และเราจะสัมผัสได้ถึงความเศร้า เสียใจ และเจ็บปวดจากสิ่งที่เธอเคยผ่านมาจนถึงตอนนี้ไปด้วยกัน

ฐานะทางเพศของผู้หญิงและผู้ชายที่สังคมกำหนดมาตั้งแต่สมัยก่อนยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร ผู้หญิงเกาหลีในยุคปัจจุบันยังคงต้องพบเจอกับปัญหาเหล่านั้นอยู่จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ชายเกาหลีถึงให้คะแนนกับหนังเรื่องนี้น้อยมากๆ อาจเป็นเพราะว่าค่านิยมชายเป็นใหญ่ยังคงไม่หายไปในสังคมเกาหลี อันที่จริงยังมีอีกหลายประเทศที่ยังคงเชื่อในค่านิยมนี้อยู่ อีกหนึ่งความสำคัญของเรื่องนี้จึงไม่ได้เพียงแต่พูดถึงแค่ความเจ็บปวดในฐานะของผู้หญิงเท่านั้น แต่ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องอยู่ในสังคมที่กดดันและตีกรอบว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี สิ่งไหนที่คนอื่นเห็นว่าควรทำ หรือสิ่งไหนที่ถูกกีดกันเพราะสังคมไม่เห็นด้วย 

Kim Ji-Young Born 1982 จึงไม่ได้เป็นภาพยนตร์สำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาหลายๆ อย่างที่เห็นกันจนเคยชินและมองข้ามไป หลังจากดูเรื่องนี้จบเราอาจจะให้ความใส่ใจกับคนรอบตัวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเคยอ่านหนังสือมาแล้วหรือไม่ ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ควรพลาด เพื่อให้รู้ว่าประโยค “เราทุกคนคือคิมจียอง” นั้นไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลยสักนิด