ชวนดู ชวนอ่าน: ความเฟมินิสต์ที่มาก่อนกาลในงานเขียนของรพินทรนาถ ฐากูร

เป็นที่รู้กันดีว่าอินเดียมีความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิงสูงเอาเรื่อง จาก The Global Gender Gap Report โดย World Economic Forum หรือ WEF ในปี 2017 อินเดียอยู่ในอันดับที่ 108 จาก 144 ประเทศ โดยปัญหาใหญ่อยู่ที่ด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงการศึกษา และการเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีอันดับรั้งท้ายกันทั้งนั้น มีแค่การมีส่วนร่วมทางการเมืองเท่านั้นที่ติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก

ทั้งหมดนี้จะบอกว่าเป็นปัญหาจากความชายเป็นใหญ่ที่หยั่งรากในสังคมอินเดียมาเป็นพันๆ ปีก็คงได้  แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีชายคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาช่วยเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมอินเดียด้วยปลายปากกา กับความคิดนำสมัย (ในยุคร้อยกว่าปีก่อน) ผู้ที่ทั้งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ครู นักปรัชญา และนักประพันธ์ – รพินทรนาถ ฐากูร

รพินทรนาถ ฐากูร (1861 – 1941) เป็นลูกชายคนสุดท้องของเทเพนทรนาถ ฐากูร ปราชญ์คนหนึ่งของอินเดีย เกิด และมีชีวิตในช่วงการฟื้นฟูศิลปวิทยาการเบงกอล (Bengali Renaissance) การที่ครอบครัวของท่านอยู่ในวรรณะพราหมณ์และมีฐานะมั่งคั่ง ท่านจึงเข้าถึงการศึกษาและความรู้แขนงต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเกินพยายาม

ผลงานของรพินทรนาถมีหลายรูปแบบ ทั้งกวีนิพนธ์ บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น และงานเขียนทางวิชาการต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานเขียนบันเทิงคดีร้อยแก้วของท่านมีความมาก่อนกาล คือมุมมองต่อตัวละครหญิงและบทบาทในเรื่องราวของพวกเธอ ในยุคที่ผู้ชายจำนวนมากในสังคมยังมองผู้หญิงว่ามีค่าไม่ต่างอะไรจากสิ่งของในความครอบครอง

เหล่าตัวละครหญิงของรพินทรนาถที่แม้จะยังดำเนินเรื่องราวในกรอบสังคมยุคนั้น แต่พวกเธอก็มีความเข้มแข็ง กล้าหาญ มีความคิดของตัวเอง รับรู้การเป็นเจ้าของตัวเธอเอง และมีอิสระเสรีเท่าที่ปลายปากกาจะสามารถสรรค์สร้างให้

อย่างในเรื่อง Chokher Bali ที่ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นแค่เรื่องรักสี่เส้าแสนจะเมโลดราม่า ระหว่างแม่ม่ายปิโนดินี คู่แต่งงานข้าวใหม่ปลามัน มหินกับอชาลตา และเบฮารี ญาติผู้น้อง แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ทั้งวิพากษ์ความเป็นเจ้าของในร่างกาย การผลักไสแม่ม่าย การกดขี่ที่เข้าใจกันไปเองว่ายอมรับได้ และความเท่าเทียมที่เพศหญิงควรจะได้ไว้อย่างแยบคายทีเดียว

รพินทรนาถเรียกร้องตั้งแต่เกียรติ ศักดิ์ศรี ความยุติธรรมอันพึงได้ อำนาจอันพึงมี อย่างอำนาจในการปกครองตัวเองของผู้หญิง ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น ความเท่าเทียม ความเสมอภาค รวมทั้งสิทธิและเสรีภาพ ผ่านเรื่องสั้นและนวนิยาย ซึ่งทั้งหมดนั้น คือหลักการของเฟมินิสม์ที่ต้องการให้ทั้งสองเพศมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้ผู้หญิงมีอำนาจเหนือกว่า หรือที่เรียกว่าเฟมินาซี (Feminazi) อย่างที่คนบางกลุ่มชอบสร้างภาพลักษณ์ว่าเหล่าเฟมินิสท์เป็น

แต่งานเขียนของรพินทรนาถมีแปลเป็นภาษาไทยในจำนวนน้อยนิด และเรื่องสั้นก็หาได้ยากยิ่งกว่ากวีนิพนธ์เสียอีก เราจึงขอชวนอ่าน e-book ฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่ให้อ่านฟรีในโปรเจ็กต์กูเตนเบิร์ก เนื่องจากเป็น Public Domain กันหมดแล้ว

หรือถ้าไม่สะดวกอ่านเป็นหนังสือ ผลงานนวนิยายและเรื่องสั้นของท่านก็ยังมีฉบับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อยู่เหมือนกัน โดยคัดสรรมาทั้งหมด 20 เรื่อง เป็นซีรีส์ 26 ตอน ในชื่อ “Stories by Rabindranath Tagore” ผลิตโดยช่อง Epic ซึ่งงานโปรดัคชั่นจัดว่าไม่แพ้ซีรีส์เรื่องดังของทางตะวันตกเลยทีเดียว หากสนใจ สามารถรับชมผ่าน Netflix กันได้

โดยเรื่องที่นำมาดัดแปลงนั้นมีทั้งเรื่องรัก เรื่องเศร้า เรื่องตลกชวนหัว และเรื่องที่ตั้งคำถามถึงสถานะของเพศหญิงในสังคมที่แม้แต่ในตอนนี้ก็ยังไม่ตกยุค เรียกได้ว่า นอกจากงานของรพินทรนาถ ฐากูรจะมาก่อนกาลแล้ว ก็ยังมีความร่วมสมัยแม้จะผ่านไปเป็นร้อยปี

คิดแล้วก็อดเศร้าใจไม่ได้เหมือนกัน

ป.ล. สำหรับท่านที่สนใจเรื่องที่มีรสชาติทางเฟมินิสม์ เราขอแนะนำเรื่อง Chokher Bali (Ep 1-3) ที่ดัดแปลงจาก Speck in the Eye, Punishment (Ep 9) ดัดแปลงจาก Shasti หรือ Punishment และ Nastanirh (Ep 9-10) ที่ดัดแปลงจาก The Broken Nest

References:

  1. The Global Gender Gap Report
  2. Tagore and his women: Works that conveyed feminism very strongly
  3. Tagore’s women: the early feminists

Written by Yanynn

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply