Venus VENUS! ตอนที่ 1

  • ภาพเทพีแห่งความงาม กับความสำคัญไม่ได้อยู่แค่ที่ความสวย

พอพูดถึงชื่อวีนัสแล้ว ภาพเทพีแห่งความงามและความรักในปกรณัมกรีก-โรมันเป็นต้องถูกนึกถึงอันดับแรกตลอด ตำนานกล่าวไว้ว่า วีนัส หรือ อะโฟรไดต์ คือสาวงามที่เกิดจากฟองคลื่น เพราะเลือดของยูเรนัสที่หยดลงมหาสมุทรเมื่อครั้งไททันโครนอสปราบพระบิดา รูปโฉมองค์เทพีงดงามยิ่งกว่าสิ่งใด งามจนมหาเทพซุสต้องยกให้เป็นชายาของเทพเฮฟเฟทัสเพราะเกรงว่าโอลิมปัสจะเกิดความวุ่นวาย (แล้วก็เกิดจริงๆ ด้วย…)

แต่ใช่ว่าความสำคัญของวีนัสจะมีอยู่แค่การเป็นภาพความงามตามอุดมคติเสียหน่อย วีนัสยังเป็นอะไรได้อีกมากมาย โดยเฉพาะในโลกของศิลปะ อย่างเช่นพวกเธอ (?) เหล่านี้!


วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (Venus of Willendorf)
ความงามคือความอุดมสมบูรณ์

อาจจะพอคุ้นหน้าคุ้นตาพวกเธอจากแบบเรียนสมัยมัธยมกันอยู่ เหล่ารูปแกะจากหินขนาดเล็กหน้าตาคล้ายผู้หญิงพวกนี้เป็นผลงานจากช่างฝีมือในยุคหินเก่า นักโบราณคดีเรียกพวกเธอรวมๆ ว่าวีนัส (Venus figurines)

วีนัสพวกนี้พบได้ทั่วไปในยุโรปฝั่งภาคพื้นทวีป มีหน้าตาแตกต่างกันไปตามพื้นที่ แต่รูปแบบที่มีร่วมกันคือใบหน้าไม่มีรายละเอียด ปลายมือปลายเท้าเรียวเล็ก แต่ที่สำคัญคือลักษณะความเป็นหญิงที่แสดงออกเกินสัดส่วน ทั้งเต้านมใหญ่ หน้าท้องยื่นเหมือนคนท้อง แล้วก็เห็นอวัยวะเพศนูนชัด ความเป็นหญิงเหล่านี้สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องแผ่นดินคือเพศหญิง คือแม่ คือผู้ให้กำเนิด เลยสันนิษฐานกันว่าวีนัสเหล่านี้น่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์และการเจริญพันธุ์

วีนัสที่ดังที่สุดในหมู่วีนัส คือ วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ (Venus of Willendorf) พบที่หมู่บ้านวิลเลนดอร์ฟ ประเทศออสเตรีย เธอโด่งดังเพราะถูกค้นพบเป็นชิ้นแรก ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 นู่นแหนะ แต่เธอก็ไม่ใช่วีนัสที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดหรอก นักโบราณคดีประมาณว่าวีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟนี้น่าจะอยู่ในยุคเดียวกับพวกวัวที่ถ้ำวัวที่ลาส์โกซ์ ประเทศฝรั่งเศส ส่วนวีนัสชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยเจอกันคือวีนัสแห่งโฮห์เลเฟลส์ (Venus of Hohle Fels) อยู่ที่ประเทศเยอรมัน


วีนัส เดอ มิโล (Venus de Milo)
ความงามที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ

วีนัส เดอ มิโล หรือ อะโฟรไดต์แห่งเกาะไมลอส (Aphrodite of Milos) ถ้าให้เรียกตามแบบกรีก คือรูปสลักหินอ่อนสีขาวจากกรีกโบราณ พบที่ซากโบราณสถานบนเกาะไมลอสในทะเลอีเจียน ตัวงานมีลักษณะแบบกรีกในยุคคลาสสิก คือมีความเป็นมนุษย์ในอุดมคติ ไม่บ่งบอกวัย สงบนิ่ง สง่างาม (แต่เทคนิคต่างๆ เป็นของยุคเฮเลนิสติคที่ใหม่กว่านั้นหน่อย)  วีนัสคนนี้เป็นสาวสวย ท่อนบนเปลือยเปล่า ท่อนล่างพันผ้า แต่จุดเด่นจนทำให้เธอเป็นที่จดจำคือแขนทั้งสองที่หายไป แขนซ้ายขาดที่กึ่งกลางแขนท่อนบน ส่วนแขนขวาหายไปตั้งแต่หัวไหล่

อันที่จริง วีนัสคนนี้ก็ยังไม่แน่ใจกันเท่าไหร่ว่าใช่วีนัสจริงๆ ไหม เพราะมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันว่าจะเป็นเทพีแอมฟริไทรต์ (Amphitrite) ชายาโพไซดอน เจ้าสมุทร แต่จากลักษณะการแต่งกายและท่าทาง ก็ดูจะโน้มเอียงไปทางวีนัสหรืออะโฟรไดต์มากกว่า

แต่ที่แน่ๆ เธอเป็นภาพจำหนึ่งของงานประติมากรรมของกรีก ทั้งเพราะความงามของร่างกายและใบหน้าที่ประติมากรสลักได้อย่างสมบูรณ์แบบ จนต่อให้ไม่มีแขนทั้งสองข้างก็ยังบอกพูดได้เต็มปากเต็มคำอยู่ดีว่าวีนัสคนนี้งามนัก แถมนักวิจารณ์ศิลปะบางคนยังให้ความเห็นอีกว่า เพราะไม่มีแขนทั้งสองข้างแบบนี้ล่ะ วีนัส เดอ มิโล นี้ถึงได้งามอย่างไม่ขึ้นกับกาลเวลา (แถมยังถูกนำไปดัดแปลงและปรากฏในศิลปะร่วมสมัยและวัฒนธรรมป็อปอยู่หลายครั้งด้วย)

แต่ก็มีการตั้งสมมติฐาน รวมถึงทั้งภาพจำลองอยู่เหมือนกันนะ ว่าถ้ามีแขนแล้วจะเป็นยังไง แต่เพราะคนคุ้นชินกับการที่เธอไม่มีแขน ก็เลยรู้สึกว่าแบบนี้นี่ล่ะพอเหมาะพอดีแล้ว

เพราะในบางครั้ง ความไม่สมบูรณ์แบบก็งดงามได้เหมือนกัน


เดอะเบิร์ทออฟวีนัส (The Birth of Venus โดย Sandro Botticelli)
ความงามของการเกิดใหม่

ในยุคเรเนซองส์ตอนต้น (Early Renaissance) ถ้าจะให้เลือกงานที่เป็นไอคอนิกของยุคนี้ คำตอบหลายๆ คนก็น่าจะหนีไม่พ้นรูปกำเนิดวีนัส หรือ The Birth of Venus ของบอตติเชลลี

วีนัสคนนี้ยืนอยู่บนเปลือกหอย สัญลักณ์ธของเพศหญิง มีนางไม้คลอริสอยู่ด้านซ้าย อุ้มเทพเซเฟอร์แห่งลมตะวันตกที่กำลังเป่าลมพัดพาให้เข้าฝั่งที่มี โฮรา เทพีฤดูใบไม้ผลิกางผ้ารอห่มอยู่

รูปนี้เขียนขึ้นตามตำนานเทพปกรณัมกรีก ดูเผินๆ ในเรื่องคอนเทนท์ก็ไม่น่าจะมีอะไรพิเศษ แต่อย่าลืมว่าในยุคเรเนซองส์ ถึงศาสนจักรจะไม่ได้มีอำนาจล้นฟ้าอย่างในยุคกลาง แต่ก็ยังมีอิทธิพลมากอยู่ งานชิ้นนี้ ที่นอกจากจะไม่ได้เล่าเรื่องราวในพระคัมภีร์ ยังพูดถึงเทพของศาสนาอื่น จัดว่าเป็นงานนอกรีตของนอกรีตเลยล่ะ

ส่วนในด้านเทคนิค รูปวีนัสคนนี้ก็จัดว่าหลุดจากความนิยมภาพปูนเปียกในยุคนั้นอยู่เหมือนกัน เพราะเธอเขียนด้วยเทคนิคเทมเพอรา (สีฝุ่นผสมไข่แดง) บนไม้ ด้วยเทคนิคนั้นเลยทำให้รูปนี้ละมุนเหมือนภาพฝัน ความใสของสีก็ช่วยสร้างบรรยากาศของผืนน้ำและฟองคลื่นให้นุ่มนวลเข้าไปอีก แต่เหนืออื่นใด กายวิภาคของวีนัสคนนี้ถึงจะดูยืดๆ ผิดส่วนนิดหน่อย แต่ก็ยังมีความสมจริงมากอยู่ดีเมื่อเทียบกับงานชิ้นอื่นๆ ร่วมสมัย และงานในยุคก่อนหน้า เธอจึงเป็นเครื่องยืนยันว่าศิลปะวิทยาการในยุคคลาสสิก (กรีก-โรมัน) ที่หายไปในระหว่างยุคกลาง รวมถึงการให้ความสำคัญกับชีวิตในโลกนี้ และตัวตนของมนุษย์ หรือที่เรียกสวยๆ ว่ามนุษยนิยม ได้กลับมาแล้วในยุคนี้ สมกับที่ชื่อ Renaissance ที่แปลว่าการเกิดใหม่ในภาษาฝรั่งเศส

แต่เรื่องวีนัสของเราก็ยังไม่หมดแค่เท่านี้ เสาร์หน้ารออ่านเรื่องของวีนัสคัดสรรอีกสามคนได้เลย!

References

Venus of Willendorf

– Aphrodite, known as the “Venus de Milo

– The birth of Venus

Written by Yanynn

 

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply