WHITE CUBE! จะผนังขาวไปไหน

  • สมัยก่อน ตอนที่เริ่มเปิดพิพิธภัณฑ์สาธารณะ ผนังไม่ได้เป็นสีขาวอย่างตอนนี้หรอกนะ แต่มีการใช้สีต่างๆ ทั้งเพื่อเป็นการตกแต่งภายในอาคาร แล้วก็เสริมสุนทรียภาพของภาพที่แสดงด้วย
  • เทรนด์การทำผนังขาวเพิ่งมาเริ่มในต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง โดยคนที่นำเทรนด์เป็นจริงเป็นจังก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ หรือที่รู้จักกันในชื่อโมม่านี่ล่ะ
  • ห้องแสดงงานผนังและเพดานขาว เรียกกันด้วยศัพท์ทางศิลปะว่า White Cube

ถ้าใครเป็นสายเข้าแกลเลอรี่ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ก็คงจะคุ้นตากันดีกับห้องเรียบๆ ผนังขาวๆ (นึกไม่ออก นึกถึง BACC ก็ได้นะ!) แต่รู้ไหม ความจริงแล้ว เทรนด์การทาสีผนังพิพิธภัณฑ์ศิลปะด้วยสีขาวเพิ่งมาเอาในยุคสมัยของโมเดิร์นอาร์ตนี่เอง

ย้อนกลับไปที่ยุโรปสมัยก่อน การสะสมภาพเขียน งานศิลปะและวัตถุล้ำค่าต่างๆ จัดเป็นเรื่องปกติมากๆ ของชนชั้นสูง เพราะของพวกนั้นเป็นเครื่องบอกสถานภาพและประกาศถึงรสนิยมอันเลิศล้ำ แต่การสะสมพวกนั้นก็เป็นไปในระดับของสะสมส่วนตัว จะมีคนอื่นได้มีโอกาสชื่นชมบ้างก็ต้องเป็นเพื่อนฝูง หรือคนในวงสังคมเดียวกันเท่านั้น แนวคิดเรื่องพิพิธภัณฑ์สาธารณะยังไม่เกิดขึ้น (หรืออย่างน้อยก็ไม่เกิดเป็นรูปธรรม) จนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 18 แนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะและศิลปะเป็นของปวงชนได้เกิดขึ้นมา พิพิธภัณฑ์สาธารณะต่างๆ ก็เกิดขึ้นตาม ไม่ว่าจะลูร์ฟ บริติชมิวเซียม ไรจค์มิวเซียม หรือหอศิลป์แห่งชาติอังกฤษ

ในสมัยนั้น พิพิธภัณฑ์ศิลปะหรือหอศิลป์ต่างๆ ยังตกแต่งภายในอย่างอลังการ ผนังปิดวอลเปเปอร์สีต่างๆ หรือบุผ้า หรือมีการทาสีสันสดใส ส่วนหนึ่งก็มาจากการดัดแปลงพระราชวัง อาคาร หรือคฤหาสน์เก่ามาเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะด้วย อีกส่วนก็มาจากเทรนด์การตกแต่งภายในในยุคนั้นนี่ล่ะ ทั้งยังมองว่า การตกแต่งสถานที่จัดแสดงงานศิลปะให้สวยงาม มีรสนิยม และกลมกลืนเสมอกับความงามของงานศิลป์ที่นำมาแสดงก็เป็นสุนทรียภาพอย่างหนึ่ง (แต่นั่นก็หลังจากผ่านยุคที่แขวนภาพเขียนกันแออัดเต็มผนังไปแล้วน่ะนะ)

The Great Gallery, The Wallace Collection, London

จนกระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตรงกับมูฟเมนท์ทางศิลปะประมาณโฟวิสม์ (Fauvism) เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Expressionism) คิวบิสม์ (Cubism) และเดอ สไตล์ (De Stijl) งานศิลปะเริ่มละทิ้งความเหมือนจริงอย่างในยุคเก่า เข้าสู่ความนามธรรมมากขึ้น มีการตัดทอน เน้นสี เน้นแสง รวมทั้งสำรวจแง่มุม เทคนิคต่างๆ ศิลปิน โดยเฉพาะสายเดอ สไตล์ และเบาเฮาส์ (Bauhaus) ก็เริ่มมีความเห็นว่างานศิลปะควรจะแสดงบนผนังสีขาวเท่านั้น เพื่อจะได้มีสิ่งรบกวนงานน้อยที่สุด กรอบภาพก็ไม่ต้องใส่ ให้ผนังขาวทำหน้าที่เป็นเฟรมไปเลย เหมือนขอบขาวของภาพถ่ายนั่นล่ะ

พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ได้รับเครดิตว่าเป็นผู้นำเทรนด์ห้องแสดงภาพผนังขาวนี้ก็หนีไม่พ้นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ที่นิวยอร์ก หรือที่รู้จักกันในชื่อโมม่า (MOMA; Museum of Modern Art) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 ภายใต้การบริหารงานของอัลเฟรด บาร์ ( Alfred Barr) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนแรก ที่ตัดสินใจยึดการแสดงงานในห้องที่ผนังและเพดานสีขาวเป็นแนวทางของโมม่า

งานแรกของโมม่าที่ใช้แนวคิดนี้ก็คือ นิทรรศการคิวบิสม์และศิลปะนามธรรม (Cubism and Abstract Art) ในปี 1936

แล้วหลังจากนั้น แนวคิดและการออกแบบห้องแสดงงานศิลปะเพื่อให้รบกวนตัวชิ้นงานน้อยที่สุดก็พัฒนาต่อยอดเรื่อยมา

“Cubism and Abstract Art,” on view at The Museum of Modern Art, March 2–April 19, 1936. The Museum of Modern Art Archives, New York.

ในปี 1997 โมม่าวางแผนจะต่อเติมตัวอาคาร ทางพิพิธภัณฑ์ได้ว่าจ้างทานิกุจิ โยชิโอะ (Yoshio Taniguchi) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นมาออกแบบ และคำพูดหนึ่งของเขาก็ยิ่งสนับสนุนแนวคิดว่าสถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์ศิลปะควรรบกวนชิ้นงานให้น้อยที่สุดไปอีก

“Raise a lot of money for me, I’ll give you good architecture. Raise even more money, I’ll make the architecture disappear.”

แปลแบบง่ายๆ ก็ได้ประมาณว่า ถ้าคุณให้งบผมมากพอ ผมจะออกแบบอาคารสวยๆ ให้คุณ แต่ถ้าคุณให้มากกว่านั้นอีก ผมจะทำให้มันหายไป ซึ่งก็คืออาคารที่ทานิกุจิออกแบบนั้นจะไม่ดึงความสนใจของคนเข้าชมไปจากงานศิลปะที่จัดแสดงเลยแม้แต่นิดเดียว

เล่ามายาวนานแล้ว สรุปเรื่องห้องแสดงงานผนังขาวเกี่ยวอะไรกับชื่อ White Cube กันล่ะ

คำนี้มันมาปรากฏตัวในวงการศิลปะเอาก็ตอนปี 1976 นั่นล่ะ ที่ไบรอัน โอโดเฮอร์ตี (Brian O’Doherty) ศิลปินและนักวิจารณ์งานศิลปะเขียนบทความถึงห้องแสดงงานผนังขาวลงนิตยสาวอาร์ตฟอรัม (Artforum) ในชื่อ “Inside the White Cube” แล้วคำว่า White Cube ก็กลายเป็นคำเรียกห้องแสดงงานผังสี่เหลี่ยม ผนังและเพดานขาว และมีแหล่งกำเนิดแสงมาจากเพดานไปในที่สุด

ถึงตอนนี้จะมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งปรับเปลี่ยนสีผนังห้องแสดงงานมาให้เป็นโทนสีอื่นๆ เช่นไรจค์มิวเซียม ที่หลังจากปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ ก็ได้มีการออกแบบและเลือกสีผนังเพื่อให้เสริมสุนทรียภาพกับตัวงานมากที่สุด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้อยู่ดีว่าแนวทางผนังขาวได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงงานศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยไปแล้ว

Rijkmuseum

Sources:

  1. How the White Cube Came to Dominate the Art World
  2. The white cube and beyond
  3. ART TERM: WHITE CUBE
  4. Taniguchi the Magician

Written by Yanynn

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply