Venus VENUS! ตอนที่ 2

  • จากสัปดาห์ที่แล้วที่ได้พูดถึงวีนัสยุคก่อนประวัติศาสตร์ไปจนถึงยุคต้นเรเนซองส์แล้ว สัปดาห์นี้ก็ถึงคิวของเหล่าวีนัสยุคใหม่กันบ้าง
  • วีนัสแห่งเออร์บิโน ความงามอันอื้อฉาวแห่งเรเนซองส์ยุครุ่งเรือง อนาโตมิคัลวีนัส สาวงามผู้สร้างคำถามในยุคที่ศพสำหรับโรงเรียนแพทย์ยังเป็นของหายาก ไปจนถึงเดอะรีเบิร์ทออฟเดอะแบล็กวีนัส งานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเกิดใหม่ในยุคเก่า สู่การผลักดันให้เกิดการเกิดใหม่อีกครั้งในยุคใหม่
  • ความงามไม่ใช่ของที่จะมีนิยามจากใครคนเดียวได้หรอก

ในเสาร์ที่แล้ว เราก็ได้คุยกันถึงเรื่องวีนัสทั้งสาม ตั้งแต่แต่วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ สาวยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ความงามแปลว่าความอุดมสมบูรณ์  วีนัสเดอมิโล สาวสวยยุคกรีก ที่สวยได้แม้แขนไม่ครบข้าง แถมความไม่สมบูรณ์นี้อาจจะทำให้งามยิ่งกว่าตอนสมบูรณ์พร้อมอีก แล้วก็เดอะเบิร์ทออฟวีนัส วีนัสของบอตติเชลลี สาวงามยุคเรเนซองส์ ความงามคือการเกิดใหม่ ไม่ใช่แค่ภาพปกรณัม แต่เป็นศิลปะวิทยาการที่สาปสูญไปด้วย

วีนัสแต่ละคนก็มีความงามแตกต่างกันไปอย่างไม่อุดมคติเลยสักนิด และเสาร์นี้เราก็จะพามารู้จักสาวงามอีกสามคน ที่ก็ไม่ได้แค่งามตามอุดมคติกัน

1. วีนัสออฟเออร์บิโน (Venus of Urbino โดย Titian) ความงามอันอื้อฉาว

สาวงามเปลือยเปล่าที่ชะม้อยชายตามองผู้ชมนี้เป็นผลงานของทิเชียน จิตรกรในยุคเรเนซองส์สมัยรุ่งเรือง สกุลช่างเวนิซ ที่นิวาสสถานอยู่เมืองเออร์บิโน ซึ่งอยู่ทางใต้ของฟลอเรนซ์ เมืองหลวงของศิลปะเรเนซองส์ ด้วยความว่าอยู่ในตำแหน่งเส้นรุ้งที่ต่ำกว่า ทำให้อากาศอบอุ่นกว่า ทัศนียภาพ สี อุณหภูมิแสงเองก็จะต่างออกไปจากทางเหนือ ทำให้ภาพของทิเชียนมีบรรยากาศแตกต่างไปจากแก๊งจิตรกรฝั่งฟลอเรนซ์

ภาพนี้วาดในช่วง 1530s ซึ่งเป็นช่วงที่การใช้สีน้ำมันได้รับความนิยมแล้ว เพราะอย่างนั้น งานเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะวิธีการลงน้ำหนักที่พึ่งฝีมือจิตรกรกับลักษณะการตวัดพู่กันเลยพัฒนาไปค่อนข้างมาก ภาพนี้ทิเชียนก็วาดด้วยการซ้อนสีบางๆ ลงไปหลายๆ ชั้น ทำให้ผิวเนื้อของวีนัสคนนี้มีความนุ่มนวล ระเรื่อเหมือนเนื้อคนจริงๆ

วีนัสออฟเออร์บิโนของทิเชียนมีความอื้อฉาวอยู่ประมาณหนึ่งในยุคนั้น ทั้งเพราะเป็นการวาดภาพเปลือยที่ยุคนั้นไม่ค่อยจะมีสักเท่าไหร่ ไหนจะบรรยากาศและกลิ่นอายความอีโรติกที่อวลอยู่ในนั้น ต่อให้บอกว่าภาพนี้ได้รับแรงอิทธิพลมาจาก Dresden Venus (หรือ Sleeping Venus วาดโดย Giorgione แล้วสานต่อให้เสร็จโดย Titian) แต่ดวงตาที่สบมองผู้ชมตรงๆ ก็สร้างผลที่แตกต่างไปจากการนอนหลับเฉยๆ ได้เอาเรื่องอยู่ จากมองภาพ ก็ชวนให้รู้สึกว่ากำลังมองคน แถมคนคนนั้นก็รู้ตัวอยู่ด้วยไป

เรียกว่า ถึงงามแค่ไหน ถ้าแหกขนบ หลุดกรอบความคิดคนส่วนใหญ่ไปก็กลายเป็นถูกย่นคิ้วใส่ได้อยู่ดี (แต่โลกเราก็ต้องการความงามนอกกรอบเยอะๆ นะ!)

(รูปวีนัสนอนมีหลายเวอร์ชั่นมากเลยล่ะ ตั้งแต่ Sleeping Venus ของ Giorgione,. Venus of Urbino ของ Titian, Sleeping Venus ของ  Artemisia Gentileschi, The Nude Maja ของ Goya ไปจนถึง Olympia ของ Manet แถมบางคนก็ให้ความเห็นว่า The Grande Odalisque ของ Ingres ก็จัดว่าอยู่ในแก๊งวีนัสนางนอนด้วยเหมือนกัน)

The Grande Odalisque โดย Jean Auguste Dominique Ingres
© Joanna Ebenstein

2. อนาโตมิคัลวีนัส (Anatomical Venus โดย Clemente Susini) ความงามที่สร้างคำถาม

© Emma Kisiel

ดูเผินๆ สาวงามสวมสร้อยมุกที่กำลังนอนเปลือยเปล่านี้ก็ดูไม่ต่างอะไรหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงธรรมดาๆ แต่พอขยับเข้าไปใกล้ขึ้น ก็จะเห็นว่าบนร่างกายเธอมีรอยแยกอยู่

อนาโตมิคัลวีนัสเป็นผลงานการสรรสร้างของคลีเมนเต้ ซูซินีในช่วงปี 1780s โดยตั้งใจให้เป็นหุ่นกายวิภาคเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ทดแทนจำนวนอาจารย์ใหญ่ที่ขาดแคลนอยู่ (อย่าลืมนะ สมัยนั้นศพยังขาดแคลนอยู่ ขนาดว่าในศตวรรษที่ 19 ยังต้องไปลักลอบขุดศพในสุสานมาเรียนเลย) วีนัสของซูซินีจัดได้ว่ามีความเป๊ะทางกายวิภาคสุดๆ สามารถถอดชิ้นส่วนออกมาได้เรื่อยๆ ถึงเจ็ดเลเยอร์ แถมในมดลูกของวีนัสหุ่นจำลองทารกตัวน้อยๆ อีก เรียกได้ว่าเก็บรายละเอียดกันสุดๆ

ดูเผินๆ สาวงามสวมสร้อยมุกที่กำลังนอนเปลือยเปล่านี้ก็ดูไม่ต่างอะไรหุ่นขี้ผึ้งขนาดเท่าคนจริงธรรมดาๆ แต่พอขยับเข้าไปใกล้ขึ้น ก็จะเห็นว่าบนร่างกายเธอมีรอยแยกอยู่

อนาโตมิคัลวีนัสเป็นผลงานการสรรสร้างของคลีเมนเต้ ซูซินีในช่วงปี 1780s โดยตั้งใจให้เป็นหุ่นกายวิภาคเพื่อการศึกษาทางการแพทย์ ทดแทนจำนวนอาจารย์ใหญ่ที่ขาดแคลนอยู่ (อย่าลืมนะ สมัยนั้นศพยังขาดแคลนอยู่ ขนาดว่าในศตวรรษที่ 19 ยังต้องไปลักลอบขุดศพในสุสานมาเรียนเลย) วีนัสของซูซินีจัดได้ว่ามีความเป๊ะทางกายวิภาคสุดๆ สามารถถอดชิ้นส่วนออกมาได้เรื่อยๆ ถึงเจ็ดเลเยอร์ แถมในมดลูกของวีนัสหุ่นจำลองทารกตัวน้อยๆ อีก เรียกได้ว่าเก็บรายละเอียดกันสุดๆ

แต่ด้วยความงามและความตรงเป๊ะขนาดนี้ ทำให้อนาโตมิคัลวีนัสโดนตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยเลยเรื่องความเหมาะสม (ในสายตาคนยุคนั้น) ซึ่งเอาจริงๆ แล้วก็ไม่น่าจะแปลกใจเท่าไหร่ เพราะเรื่องความดึงดูดใจของสาวสวยที่ตายแล้ว (ในเซนส์ของหุ่นนั้น) ที่ดูไปดูมาก็เหมือนจะมีมากกว่าสาวที่มีชีวิตก็ชวนรบกวนจิตใจหลายคนอยู่ ไหนจะความเห็นของบางคนว่าหุ่นนี้ชวนให้มองผู้หญิงเป็นวัตถุ (Objectify) กันอย่างอ้อมๆ ไปอีก

วีนัสของซูซินีเลยชวนให้คิดต่อไปว่าหุ่นจำลองศพ/ผู้หญิงเพื่อการศึกษาทางการแพทย์จำเป็นต้องสวยงามขนาดนี้ไหม หรือแค่ถูกต้อง แต่ไม่ต้องเจริญหูเจริญตาเกินหน้าฟังก์ชั่นที่ใช้งานก็พอแล้ว

3. เดอะรีเบิร์ทออฟเดอะแบล็กวีนัส (The Rebirth of the Black Venus โดย Billie Zangewa) วีนัสแห่ง (การก้าวสู่) ความเท่าเทียม

ถ้ายังจำกันได้ The Birth of Venus ของ Botticelli ถูกนับว่าเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ของศิลปวิทยาการ ให้สมชื่อ Renaissance เพราะงั้น จึงไม่แปลกอะไรเลยถ้าภาพนี้จะถูกนำมาใช้ในความหมายของการเกิดใหม่ในศิลปะร่วมสมัยได้อีก

ถ้าจะเล่าถึงงานชิ้นนี้ ก็ต้องเล่าถึงผู้สร้างงานกันก่อน — บิลลี ซานเจวาเป็นศิลปินชาวมาลาวีที่อาศัยอยู่ในลอนดอน และโยฮันเนสเบิร์ก งานของซานเจวาส่วนใหญ่ทำบนผ้าไหม เป็นสื่อผสมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงและสังคมเมือง อย่างชิ้นเดอะรีเบิร์ทออฟเดอะแบล็กวีนัสที่ทำขึ้นในปี 2010 นี้ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก The Birth of Venus บวกกับเรื่องราวของซาร่า บาร์ทแมน (Sara Baartman) สาวผิวดำในโชว์ตัวประหลาดที่ได้ชื่อว่าแบล็กวีนัสในสมัยต้นศตวรรษที่ 19

ในเดอะรีเบิร์ทออฟเดอะแบล็กวีนัส ซานเจวาต้องการพูดถึงร่างกายของผู้หญิงในฐานะสื่อ จากมุมของศิลปินเฟมินิสต์ ทั้งเพื่อตั้งคำถาม และพูดถึงความเป็นอื่น ทั้งการสู้เพื่อเสรีภาพและที่ยืนในสังคม การเข้าใจในคอนเซ็ปต์ความเป็นร่างกายและความหมายของมันถึงจะพาให้เรื่องสิทธิต่างๆ ไปเกินกว่าแค่เรื่องเพศ (Gender) ได้ นั่นถึงจะเป็นการเกิดใหม่ของสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีที่เคยตายไปครั้งหนึ่งแล้วจริงๆ

สุดท้ายแล้ว ความงามของวีนัสทั้งหมดนี้ ก็ชวนให้กลับไปตั้งคำถามใหม่อยู่ดี ว่าสุดท้ายแล้วความงามคืออะไร อุดมคติของความงามมีจริงหรือเปล่า หรืออยู่ที่มุมมองของคนตอบอยู่ดีว่าอะไรคืองามสำหรับเขา งามแล้วต้องมีฟังก์ชั่นอยู่ไหม แบบไหนคือสมบูรณ์แบบ

แต่ก็ไม่ต้องเครียดไปหรอกนะ จนตอนนี้สุนทรียศาสตร์ความงามก็ยังปาคำถามใส่กันกลับไปกลับมาอยู่เลย ว่าความงามคืออะไร เพราะความงามเป็นของที่ไม่สามารถมีนิยามจากใครคนเดียวได้หรอก

References

https://artsandculture.google.com/asset/venus-of-urbino/bQGS8pnP5vr2Jg

http://www.titian.org/venus-of-urbino.jsp

https://www.theguardian.com/artanddesign/2016/may/17/anatomical-venus-anatomy-human-biology-joanna-ebenstein-books

https://www.atlasobscura.com/articles/an-ode-to-an-anatomical-venus-morbid-anatomy

https://www.contemporaryand.com/magazines/body-conversation-body-language-bodies-speaking-1/

http://moorewomenartists.org/body-talk/

Venus of Urbino

https://www.theartpostblog.com/wp-content/uploads/2017/11/volto-Venere-Urbino-Tiziano.jpg

https://en.wikipedia.org/wiki/Venus_of_Urbino#/media/File:Tiziano_-_Venere_di_Urbino_-_Google_Art_Project.jpg

The Grande Odalisque

https://en.wikipedia.org/wiki/Grande_Odalisque#/media/File:Jean_Auguste_Dominique_Ingres_-_The_Grand_Odalisque_-_WGA11841.jpg

Anatomical Venus

https://d3h6k4kfl8m9p0.cloudfront.net/uploads/2016/06/15111058/29edit.jpg

https://www.researchgate.net/publication/313782511/figure/fig4/AS:614027248021515@1523406912640/Wax-anatomical-model-from-La-Specola-Museum-in-Florence-Source-wwwemmakisielcom.png

http://3.bp.blogspot.com/-KGljbXwH2UE/UPMP0fIwOCI/AAAAAAAAHVM/WapbQywdvwU/s1600/exquisite001_3.jpg

The Rebirth

http://moorewomenartists.org/wp-content/uploads/2015/03/Billie-Zangewa-The-Rebirth-of-the-Black-Venus-2010.jpg

Written by Yanynn

 

 

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply