Bride and Seek… เจ้าสาวซ่อนหา(ย)

  • เรื่องเจ้าสาวที่หายไปในคืนคริสต์มาสจัดว่าเป็นตำนานเมือง (Urban legend) ที่เล่ากันมาหลายยุคและมีการอ้างอิงถึงสถานที่ต่าง ๆ ว่าเคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอยู่หลายที่ และหลายยุคหลายสมัย
  • จุดที่เหมือนกันของตำนานเจ้าสาวหายในแต่ละเรื่อง คือ มีจุดเริ่มต้นจากการเล่นซ่อนหาหลังจากงานเลี้ยงอาหารค่ำในวันฉลองสมรส และสถานที่ที่พบตัวเจ้าสาวที่หายไปในเวลาต่อมา
  • เรื่องเจ้าสาวที่หายไปนี้เป็นหนึ่งในเรื่องสยองขวัญที่ได้รับความนิยมและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์และวรรณกรรมในยุคหลังด้วย

การเล่าเรื่องผีในช่วงคืนก่อนคริสต์มาสและคืนวันคริสต์มาสกันในครอบครัวและหมู่เพื่อนฝูงที่มาฉลองวันหยุดสำคัญนี้ร่วมกันเคยเป็นธรรมเนียมของชาวอังกฤษในสมัยก่อน โดยเฉพาะในยุควิคตอเรียนหรือช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 แต่ธรรมเนียมนี้ก็ได้หายไปตามกาลเวลา เนื่องจากเพิ่งผ่านวันคริสต์มาสมาไม่นาน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศและให้สมกับชื่อคอลัมน์ Thursday Mystery ไม่มีอะไรเหมาะเท่ากับการเล่าเรื่องลึกลับที่เกิดขึ้นในวันคริสต์มาส

เรื่องเจ้าสาวที่หายไปในคืนคริสต์มาสจัดว่าเป็นตำนานเมือง (urban legend) ที่เล่ากันมาหลายยุคและมีการอ้างอิงถึงสถานที่ต่าง ๆ ว่าเคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอยู่หลายที่ แต่หัวใจของเรื่องถูกต้องตรงกันนั่นก็คือ เรื่องของเจ้าสาวที่เล่นซ่อนหาในคืนฉลองแต่งงานซึ่งตรงกับวันคริสต์มาส แต่กลับหายไปในคืนนั้น เจ้าบ่าวตามหาเท่าใดก็ไม่พบ จนกระทั่งหลายปีให้หลังจึงมีคนพบเธออีกครั้ง โดยเป็นโครงกระดูกสวมชุดเจ้าสาวที่ถูกขังอยู่ในหีบไม้ที่ปิดล็อกโดยอุบัติเหตุระหว่างที่เธอเข้าไปซ่อนตัวอยู่ภายในนั้น

ตำนานเจ้าสาวที่เล่นซ่อนหาแล้วหายตัวไปเป็นเรื่องเล่าที่มีอายุเกินร้อยปีแล้ว ปรากฏครั้งแรกในข่าวสั้น ๆ ชื่อ ‘เหตุสลด’ (The Melancholic Occurrence) เมื่อ ค.ศ. 1890 พูดถึงเหตุหายตัวปริศนาการหายตัวไปของเจ้าสาวในประเทศเยอรมนี

บทกวีชื่อ “Ginevra” ของซามูเอล โรเจอร์ส (Samuel Rogers, 1763–1855) ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1822 พูดถึงหญิงสาวชาวเมืองโมดิน่าในอิตาลีชื่อกิเนฟราที่เล่นซ่อนหาหลังจากงานเลี้ยงฉลองงานแต่งงานของตัวเอง และพบที่ซ่อนในหีบไม้ที่ได้รับมาเป็นของขวัญ โดยสลักชื่อของเธอเป็นเจ้าของเอาไว้ เธอจึงเข้าไปซ่อนอยู่ในนั้น แต่กลับโชคร้ายฝาของหีบกลับล็อกขังเธอไว้ข้างใน จากของขวัญในวันพิเศษก็กลับกลายเป็นโลงศพของเธอแทน โรเจอร์สได้เขียนหมายเหตุเอาไว้ว่า มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริง แต่จำสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวไม่ได้ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ทำให้มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในอังกฤษที่หลายที่ต่างอ้างว่าเมืองของตนเป็นสถานที่เกิดเหตุ เช่น แบรมชิลล์เฮาส์ในแฮมป์เชียร์ มินสเตอร์โลเวลล์ในออกซ์ฟอร์ดเชียร์ หรือคาสเซิลฮอร์เน็คในคอร์นวอลล์ก็ต่างกล่าวว่าสถานที่ของตนเป็นที่มาของตำนานนี้

ในเวลาต่อมา เรื่องเล่าของเจ้าสาวที่เล่นซ่อนหาและถูกขังเอาไว้ในหีบกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้น เมื่อที เอช เบย์ลีย์ (T. H. Bayley,1797-1839) และเซอร์เฮนรี บิชอป (Sir Henry Rowley Bishop, 1786 – 1855) แต่งเพลงชื่อ The Mistletoe Bough หรือ กิ่งมิสเซิลโทขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1830s เพลงนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่แพร่หลายที่สุดในช่วงปลาย 1850 ถึงต้น 1860 โดยเรียกได้ว่าเป็นบทเพลงที่ชาวอังกฤษจำนวนมากจำกันได้อย่างขึ้นใจเลยทีเดียว

บทเพลง The Mistletoe Bough มีเนื้อหาทำนองเดียวกันกับบทกวี Ginevra เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากเมืองโมดิน่า ประเทศอิตาลีมาเป็นคฤหาสน์ของลอร์ดโลเวลล์ (Lord Lovell) ในประเทศอังกฤษแทน เนื้อเพลงเล่าถึงเจ้าสาวของลอร์ดโลเวลล์ที่เสนอแนะให้เล่นซ่อนหาหลังจากงานเลี้ยงอาหารค่ำในงานแต่งงานซึ่งตรงกับวันคริสต์มาสพอดี หลังจบเกม ฝ่ายตามหาก็พบฝ่ายที่ไปซ่อนจนครบทุกคน เว้นแต่เจ้าสาวคนเดียวเท่านั้น ลอร์ดโลเวลล์และพ่อเจ้าสาวตามหาเท่าใดก็ไม่เจอ พบเพียงผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งตกอยู่ใกล้กับหีบเก่า ๆ ใบหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากไม่มีเบาะแสอื่นอีก ทุกคนจึงตัดใจเลิกตามหา ในอีกสามสิบปีต่อมา ลอร์ดโลเวลล์เห็นภาพร่างของเจ้าสาวที่หายไปอีกครั้ง เมื่อตามไป เขาก็พบร่างโครงกระดูกในสวมชุดของเจ้าสาวที่หายไปเมื่อหลายสิบปีก่อนอยู่ในหีบนั่นเอง

ไม่เพียงแต่จะถูกเล่าขานเป็นตำนานเก่าแก่ เรื่องเจ้าสาวเล่นซ่อนหาได้กลายเป็นตำนานเมืองยุคใหม่ มีเรื่องหนึ่งพูดถึงคู่หนุ่มสาวที่แต่งงานกันตั้งแต่จบมัธยมปลายในช่วงปี 1975 และย้ายไปอยู่ด้วยกันที่ปาล์มบีช สหรัฐอเมริกา ในวันฉลองแต่งงาน เจ้าบ่าวและแขกในงานที่เมากันได้ที่ก็เสนอให้เล่นซ่อนหากัน แล้วเจ้าสาวก็หายไปตามไม่พบ ทุกคนคิดว่าเจ้าสาวแกล้งจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน ในเวลาต่อมาเจ้าบ่าวก็ยังหาเจ้าสาวไม่พบ เห็นท่าจะไม่ดีแล้วจึงไปแจ้งตำรวจให้ช่วยตามหา แต่หาเท่าใดก็ไม่พบเบาะแสอื่น ๆ จนกระทั่งสามปีให้หลัง แม่บ้านรับจ้างทำความสะอาดบ้านที่คนทั้งคู่เคยอยู่และพบกับหีบไม้ใบหนึ่งเข้า เมื่อเปิดออก แม่บ้านถึงกับผงะและกรีดร้อง เพราะพบศพเจ้าสาวที่หายไปคนนั้นอยู่ภายใน เธอถูกขังไว้ในหีบในคืนฉลองแต่งงานและขาดอากาศหายใจจนตายไปในที่สุดตั้งแต่วันนั้นเอง

เห็นได้ว่า เหตุเศร้าและเรื่องสยองของเจ้าสาวในวันคริสต์มาสกลายเป็นเรื่องที่หลายคนติดใจและถูกเล่าซ้ำในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนิยายหรือเรื่องสั้นยุคปัจจุบัน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้หนังเรื่อง The Rope ของราชาหนังเขย่าขวัญอย่างอัลเฟรด ฮิตช์ค็อกด้วย และตำนานนี้ก็คงจะอยู่คู่คริสต์มาสต่อไปตราบเท่าที่ยังไม่มีคนลืม

ดูภาพยนตร์ที่สร้างจากตำนานเจ้าสาวซ่อนหา(ย) ฉบับปี ค.ศ. 1904 หรือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วฉบับย่อที่ตัดต่อโดยสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute หรือ BFI) เพิ่มเติมได้ที่นี่:

References

  1. Christmas Ghost Stories
  2. 10 Classic Urban Legends That Scared the Pants Off Us When We Were Kids
  3. Bride-and-Seek (The Missing Bride)
  4. Bride and Go Seek
  5. “Ginevra” by Samuel Rogers (1822)
  6. “The Mistletoe Bough” by T. H. Bayley and Sir Henry Bishop

Written by piyarak

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply