Premature Burial… โปรดตรวจสอบหลุมศพให้แน่ใจว่าผู้ตายจะไม่ฟื้นขึ้นมาทีหลัง
- ‘ทาโฟโฟเบีย’ (Taphophobia) คือ ‘อาการกลัวว่าจะถูกฝังทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่’ อาการนี้มีเหตุมาจากเหตุการณ์การถูกฝังทั้งเป็น หรือ เพราะคนใกล้ชิดเข้าใจผิดคิดว่าตายไปแล้ว
- การเกิดสภาพเหมือนตายแต่ไม่ตายมีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุหลายประการเช่นกัน เช่น ภาวะไฮโปเธอร์เมีย (hypothermia) และอาการคาตาเลปซี (catalepsy) ที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยว่าตายแล้วเพราะไม่มีการตอบสนองหรือเคลื่อนไหว
- ในช่วงศตวรรษที่ 19 ความกลัวว่าจะถูกฝังทั้งเป็นทำให้เกิดการศึกษาหาสาเหตุและวิธีการป้องกันการนำผู้ป่วยไปฝังทั้งที่ยังไม่ตายจริงขึ้นหลายวิธีด้วยกัน เช่น โลงศพที่มีอุปกรณ์เตือนให้คนในสุสานรู้ว่า คนที่อยู่ในโลงยังไม่ตาย และช่องเก็บศพที่สามารถเปิดจากข้างในได้ เป็นต้น
“To be buried while alive is, beyond question, the most terrific of these extremes which has ever fallen to the lot of mere mortality.” – Edgar Allan Poe (Premature Burial, 1850)
เคยได้ยินคำว่า ‘ทาโฟโฟเบีย’ (Taphophobia) กันบ้างไหม คำนี้มีความหมายว่า ‘กลัวว่าจะถูกฝังทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่’ ความกลัวชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องน่าขำ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมที่มีการฝังศพและในยุคสมัยที่การแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า และความกลัวนี้ก็มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย เพราะมีตำนาน เรื่องเล่า และเหตุการณ์จริงที่เกี่ยวกับการถูกฝังทั้งเป็น หรือ เพราะคนใกล้ชิดเข้าใจผิดคิดว่าตายไปแล้วอยู่มากมาย ทำให้คนในสมัยก่อน โดยเฉพาะสมัยศตวรรษที่ 19 เกิดความกลัวว่า สักวันหนึ่ง เมื่อตัวเองอยู่ในสภาวะเหมือนตายไปแล้ว จะมีคนเข้าใจผิดและนำไปฝังทั้งที่ยังไม่ตายจริง ๆ
ถ้านึกไม่ออกว่าเพราะอะไรการถูกฝังทั้งเป็น (premature burial) จึงเป็นเรื่องน่ากลัว ให้ลองจินตนาการดูสิว่า หลังจากหมดสติไปและฟื้นขึ้นมาใหม่ คุณก็พบว่าตัวเองอยู่ในสถานที่ที่ทั้งมืดและแคบ มีผนังอยู่ทั้งสี่ด้าน พยายามผลักด้านไหนก็ดูจะไม่ขยับเขยื้อน ร้องเรียกเท่าไหร่ก็ไม่มีใครได้ยิน เพราะถูกขังเอาไว้ในโลงศพ ตอกตะปูแน่นหนา จะทุบจะเขย่าใช้ปลายนิ้วขูดจนเลือดออกก็ไม่มีผลอะไรเลย ยิ่งไปกว่านั้น คุณถูกฝังอยู่ใต้ดินลึกลงไปจากพื้นผิวโลกถึงหกฟุต ความหวังที่จะรอดชีวิตแทบไม่มีเหลือ และยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีทั้งน้ำ ทั้งอาหาร ไม่รู้วันเดือนปีที่ผ่านไป สิ่งเดียวที่รู้ ณ เวลานั้น คือ คุณยังไม่ตายแต่กำลังจะตายในหลุมฝังศพของตัวเองในอีกไม่ช้า
ในกรณีที่ตายหลังจากถูกฝังทั้งที่ยังไม่ทันตายและมีคนพบเข้าในภายหลัง สิ่งที่จะบ่งบอกได้ว่า คนที่พบในหลุมศพถูกฝังทั้งที่ยังไม่ตายและในกรณีที่ศพยังไม่กลายเป็นโครงกระดูกไปเสียก่อนก็คือ ปลายนิ้วมือที่เต็มไปด้วยเลือด ศพอยู่ในสภาพทุกข์ทรมานจากการขาดอากาศหายใจหรือความพยายามที่จะหนี และต่อให้สลายไปจนแทบไม่เหลืออะไรแล้ว ฝาโลงด้านในก็ยังจะหลงเหลือร่องรอยขูดขีดจากการตะเกียกตะกายพยายามเปิดฝาโลงออกไปเพื่อให้ตัวเองเป็นอิสระ แต่ก็ไร้ผล
อ่านถึงตรงนี้แล้วอาจมีคนสงสัยว่า สภาพเหมือนตายแต่ไม่ตายเกิดขึ้นได้จริงหรือ การเกิดกรณีเหล่านี้ในปัจจุบันอาจแทบเป็นไปไม่ได้ แต่ในอดีตที่วิทยาการด้านการแพทย์และอุปกรณ์ในการตรวจจับสัญญาณชีพยังขาดประสิทธิภาพก็เป็นไปได้อยู่ โดยการเกิดสภาพเหมือนตายแต่ไม่ตายมีข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุหลายประการเช่นกัน เช่น ภาวะไฮโปเธอร์เมีย (hypothermia) อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงมากกว่าปกติจนทำให้ระบบการทำงานของร่างกายผิดปกติและผู้ป่วยหมดสติ อาการคาตาเลปซี (catalepsy) ที่ผู้ป่วยมีภาวะตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอกลดลงจนอยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง ไม่เคลื่อนไหว และอาจมีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อและการหายใจที่ช้าผิดปกติจนคล้ายกับว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว เป็นต้น จากตัวอย่างที่กล่าวมา ทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยว่าตายแล้ว ถ้าโชคดีก็อาจฟื้นคืนมาในห้องเก็บศพ แต่ถ้าโชคร้ายกว่านั้น ก็อาจฟื้นขึ้นมาในโลงศพที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน หรือเสียชีวิตระหว่างการชันสูตรศพนั่นเอง
แม้จะเป็นกรณีที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ความทุกข์ทรมานก่อนตายที่เกิดขึ้นจากการถูกฝังทั้งเป็นทำให้ใครหลายคนหวาดกลัวว่าจะต้องเจอกับสภาพเช่นนั้น บางคนจึงสั่งเสียว่าให้ทำอย่างไรก็ตามแต่เพื่อให้แน่ใจได้ว่า ตนเองตายไปจริง ๆ ก่อนที่จะทำพิธีฝัง และบางคำสั่งก็แปลกแต่จริง เช่น อดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันมีคำสั่งให้เฝ้าหลุมศพของเขาไว้เป็นเวลาสองวันหลังจากฝังไปแล้ว เผื่อว่าตอนที่ฝังจะไม่ได้ตายจริง หรือเอ็ดเวิร์ด บัลเวอร์ ลิตตัน นักการเมืองและนักเขียนชาวอังกฤษสั่งให้คนใช้ลิ่มตอกใส่หัวใจของตัวเองหลังจากตายไปแล้ว เพื่อมั่นใจได้ว่าตายจริง ไม่ฟื้นขึ้นมาอีก
เพราะมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นและมีคนกลัวตกอยู่ในสภาพถูกฝังทั้งที่ยังไม่ตาย ในสมัยก่อนนั้นจึงมีคนผู้ศึกษาหาสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เหตุการนี้เกิดขึ้น เช่น หนังสือ ‘Premature burial and how it may be prevented’ หรือ ‘ฝังก่อนตายและวิธีที่อาจนำมาใช้สำหรับป้องกันเหตุ’ ของวิลเลียม เท็บบ์ นอกจากนี้ยังมีผู้พยายามหาทางตรวจสอบก่อนที่จะนำไปฝัง เช่น อุปกรณ์สำหรับจิ้มเท้าเพื่อทดสอบปฏิกิริยาของคนที่คิดว่าตายไปแล้ว และประดิษฐ์โลงศพพิเศษที่มีเชือกโยงเข้าไปในโลงศพต่อกับกระดิ่งที่อยู่เหนือพื้นดิน เผื่อว่าคนที่อยู่ในโลงเกิดฟื้นขึ้นมาจะได้สั่นกระดิ่งบอก หรือโลงที่มีลูกแก้วต่อกับก้านธงที่พับอยู่เหนือพื้นดิน เมื่อคนในโลงฟื้นหรือหายใจ อกก็จะขยับชนลูกแก้วแล้วทำให้ธงดีดขึ้นมา หรือทำช่องเก็บศพที่สามารถเปิดจากภายในได้ สิ่งประดิษฐ์บางอย่างถึงกับจดสิทธิบัตรเอาไว้เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่พบข้อมูลว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถใช้ได้ผลในความเป็นจริงหรือไม่ และด้วยวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน เหตุการณ์ชวนสยองอย่างการฝังทั้งเป็นหรือวินิจฉัยผิดพลาดว่าตายทั้งที่ยังไม่ตายก็มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยยิ่งกว่าน้อย ดังนั้น สิ่งประดิษฐ์เพื่อคนที่ถูกฝังหรือการทำให้แน่ใจว่าตายจริงก่อนฝังจึงแทบไม่จำเป็นอีกในทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม โปรดตรวจสอบคนที่ท่านกำลังจะนำไปฝังด้วยความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย
References
- Buried Alive: Is Premature Burial Really Possible and Could It Happen to You?
- The Premature Burial by Edgar Allan Poe (published 1850)
- The Horror of Premature Burial
- Premature Burial and Three Real Life Cases
- Item of the Month, February 2013: ‘Premature burial and how it may be prevented’
- Tebb, William, “1830-1918: Premature Burial and How it May Be Prevented: With Special Reference to Trance, Catalepsy, and Other Forms of Suspended Animation,” (second edition; London: Swan Sonnenschein and Co., 1905)
Written by Piyarak
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!