Michael Dillon: The First Trans Man ชายข้ามเพศคนแรกของโลก

  • ไมเคิล ดิลลอน ถือเป็นทรานส์แมนหรือผู้ชายข้ามเพศคนแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศโดยวิธีการทางการแพทย์
  • ดิลลอนเกิดในครอบครัวขุนนางในไอร์แลนด์ ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แม้ว่าจะมีเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่ดิลลอนคิดว่าตนเองเป็นผู้ชายมาตลอด จนในที่สุดก็ได้ทำการปรึกษาแพทย์และทดลองรับฮอร์โมนเพศชาย
  • หลังจากผ่าตัดหน้าอกแล้ว แพทย์ได้ออกเอกสารรับรองให้แก้ไขสูติบัตรของดิลลอนจากหญิงเป็นชายได้ และระหว่างรอการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศ ดิลลอนเข้าเรียนในคณะแพทยศาสตร์ และได้ประกอบวิชาชีพแพทย์ด้วย

ไมเคิล ดิลลอน หรือ ลอเรนซ์ ไมเคิล ดิลลอน (1915-1962) ถือเป็นผู้ชายข้ามเพศคนแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศจากหญิงเป็นชายโดยการสร้างองคชาติขึ้น (Phalloplasty) และการผ่าตัดนั้นก็ประสบความสำเร็จด้วยดี นอกจากเป็นชายข้ามเพศแบบเต็มตัวคนแรกของโลกแล้ว เส้นทางชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตของเขาก็นับว่ามีสีสันมากทีเดียว

ไมเคิล ดิลลอน หรือชื่อเดิมคือ ลอรา ม้อด ดิลลอน (Laura Maud Dillon) เป็นลูกสาวคนที่สองของโรเบิร์ต ดิลลอน บารอนแห่งลิสมัลเลน ชื่อ ‘ลอรา ม้อด’ ได้มาจากชื่อแม่ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดหลังจากคลอดได้เพียงสองวัน หลังจากนั้น ดิลลอนก็ถูกส่งไปให้ป้าที่เค้นท์เลี้ยงดู ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนสตรีและจบปริญญาจากเซนต์แอนน์สคอลเลจ  ซึ่งเป็นวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในสมัยนั้น ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ออกซ์ฟอร์ด ดิลลอนถือเป็นนักกีฬาที่โดดเด่น เพราะได้เป็นถึงประธานชมรมกีฬาพายเรือและได้รางวัลนักกีฬายอดเยี่ยมระดับมหาวิทยาลัยด้วย เมื่อจบการศึกษาแล้ว ก็ได้งานเป็นนักวิจัยในห้องปฏิบัติการทดลองที่บริสตอล

ตั้งแต่เติบโตมา ลอรา ม้อด ดิลลอนมีเสียงห้าวลึกและมีขนบริเวณใบหน้าค่อนข้างมาก นอกจากชอบเล่นซนแบบเด็กผู้ชายแล้ว ยังรู้สึกสบายใจเวลาแต่งตัวแบบผู้ชายมากกว่าแต่งตัวแบบผู้หญิง ดิลลอนคิดว่าตนเองเป็นผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง และมีความรู้สึกนี้ติดตัวมาตลอด จนกระทั่งปี 1939 จึงไปปรึกษาแพทย์ คือ นายแพทย์จอร์จ ฟอสส์ (George) ซึ่งทดลองให้ลอรารับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชาย แต่ปัญหาก็คือจิตแพทย์อีกคนที่ดิลลอนไปปรึกษาก่อนหน้านี้ทำให้เรื่องที่ดิลลอนต้องการเป็นผู้ชายแพร่กระจายออกไป ทำให้ดิลลอนต้องย้ายหนีไปทำงานเป็นลูกมือช่างในอู่ซ่อมรถ แม้ว่าในสมัยนั้นยังไม่มีการศึกษาเรื่องผลข้างเคียงจากการรับฮอร์โมนเพศชายสังเคราะห์มากนัก แต่ผลที่ได้รับถือว่าดีทีเดียว เพราะฮอร์โมนทำให้ดิลลอนมีลักษณะเป็นผู้ชายชัดเจนจนสามารถก้าวข้ามจากเพศหญิงไปเป็นเพศชายได้ และระหว่างที่ทำงานอยู่กับอู่ซ่อมรถนั้น เจ้าของอู่แนะนำลอรากับคนอื่น ๆ ด้วยสรรพนามว่า ‘เขา’ (he) แทน ‘เธอ’ (she) และยังได้ทำงานอื่น ๆ ที่ผู้ชายทำ เช่น เป็นพนักงานขับรถบรรทุกและพนักงานเตือนภัยเกี่ยวกับเพลิงไหม้ในช่วงที่อังกฤษถูกโจมตีทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่สอง

ระหว่างที่รับการรักษาในโรงพยาบาลเรื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ดิลลอนมีโอกาสได้พบกับแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งที่ให้ความสนใจกับกรณีนี้ และได้รับการผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างออก (mastectomy) ไม่เพียงแต่ผ่าตัดให้ แพทย์ที่ทำการผ่าตัดยังออกเอกสารรับรองแก่ดิลลอนเพื่อให้สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามและเพศในสูติบัตรจากหญิงเป็นชาย และช่วยติดต่อนายแพทย์ฮาโรลด์ กิลลีส์ (Harold Gillies) ซึ่งได้ฉายาว่าเป็น ‘บิดาแห่งการศัลยกรรมตกแต่งสมัยใหม่’ และเป็นศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดตกแต่งอวัยวะเพศชายที่ได้รับความเสียหายและผ่าตัดบุคคลที่มีอวัยวะสองเพศให้แก่ดิลลอนด้วย

แม้ว่ากิลลีส์จะสามารถผ่าตัดให้ได้ แต่ระหว่างนั้นงานของกิลลีส์มีค่อนข้างมาก เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ดิลลอนจึงต้องรอ ซึ่งในระหว่างรอการผ่าตัด ดิลลอนก็สมัครเข้าเรียนในคณะแพทย์ ที่ทรินิตี้คอลเลจ ดับลินจนจบการศึกษา กระทั่งในปี 1945 กิลลีส์ได้เริ่มทำการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศให้เป็นอวัยวะเพศชายให้แก่ดิลลอน การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศหญิงเป็นเพศชายนี้ทำทั้งหมด 13 ครั้ง และถือเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนเพศจากหญิงเป็นชายครั้งแรกของโลก โดยเทคนิคที่กิลลีส์ใช้กับดิลลอนถือเป็นวิธีการมาตรฐานที่นำมาใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนเพศในยุคหนึ่งด้วย (ส่วนการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงครั้งแรกของสหราชอาณาจักร ก็เป็นฝีมือของกิลลีส์อีกเช่นกัน โดยผู้หญิงข้ามเพศคนแรกที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศจากชายเป็นหญิงคือ โรเบอร์ตา เคาเวลล์)

หลังจากดิลลอนเป็นผู้ชายเต็มตัวแล้วก็ได้สมัครเข้าทำงานเป็นแพทย์ในดับลิน และเป็นแพทย์ในเรือเดินสมุทรให้กับบริษัทเดินเรืออีกหกปี เขียนหนังสืออัตชีวประวัติเล่มหนึ่ง คือ Self: A Study in Endocrinology and Ethics (1946) ในนาม ‘ไมเคิล ดิลลอน’ แม้ว่าในหนังสือ ‘Self’ ที่ดิลลอนเขียนจะไม่ได้กล่าวถึงความเป็นมาของตัวเองก่อนเป็นทรานส์แมนมากนัก แต่ก็มีสื่อที่สืบรู้จนได้ว่าดิลลอนเกิดในตระกูลของขุนนาง และตั้งคำถามว่า ในเมื่อเขาเป็นผู้ชายแล้ว เขาจะสามารถสืบทอดตำแหน่งขุนนางในฐานะทายาทได้หรือไม่ด้วย

เนื่องจากไม่ต้องการตกเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนในเรื่องที่ไม่ต้องการจะพูดทำให้ดิลลอนเดินทางออกจากอังกฤษไปยังอินเดีย ได้ศึกษาศาสนาพุทธที่เมืองสารนาถและตัดสินใจบวช ระหว่างที่บวชนั้น ดิลลอนได้เขียนหนังสืออีกจำนวนหนึ่งในนามลอบซัง ชีวกะ ก่อนจะเสียชีวิตด้วยปัญหาด้านสุขภาพเมื่ออายุ 47 ปี และหนังสือเล่มสุดท้ายที่ดิลลอนเขียนเมื่อปี 1962 คือ Out of the Ordinary: A Life of Gender and Spiritual Transitions เพิ่งได้รับการตีพิมพ์หลังเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมานี้เอง

References:

  1. Brief History of FTM Trans Civilization
  2. Michael Dillon (1915-1962) – The World’s First Transsexual Man
  3. This Englishman’s search for truth was about the transformation of spirit, and of gender
  4. Transgender tipping-point
  5. People Profile: Michael Dillon

Written by Piyarak

0 replies

Leave a Reply

Want to join the discussion?
Feel free to contribute!

Leave a Reply