Robert Lee… จากวอลล์สตรีทสู่ข้างถนนเพื่อลดขยะอาหารให้คนได้อิ่ม
- โรเบิร์ต อีเกิดในครอบครัวของผู้อพยพชาวเกาหลีและเคยเผชิญกับความอดอยากมาก่อนและเห็นว่าการทิ้งขว้างอาหารที่ยังกินได้เป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะอาหารที่คนอเมริกันทิ้งไปนั้นมีมูลค่ามหาศาลและสามารถเลี้ยงคนได้อีกเป็นจำนวนมาก
- โรเบิร์ตเข้าร่วมกับชมรมในมหาวิทยาลัยที่นำอาหารที่ยังกินได้จากโรงอาหารไปส่งต่อให้คนไร้บ้าง โครงการระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยของเขาที่ทำร่วมกับเพื่อนได้รับรางวัล และเป็นที่มาของโครงการคืนชีวิตให้อาหารเหลือทิ้งหรือ Rescuing Leftover Cuisine (RLC) ที่จะนำอาหารที่ยังกินได้แต่เหลือจากการขายของร้านอาหารต่าง ๆ ไปกระจายต่อให้กับคนที่ต้องการในที่พักพิงคนไร้บ้าน
- ระยะแรก RLC ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ด้วยความพยายามของโรเบิร์ต เพื่อนผู้ร่วมก่อตั้ง อาสาสมัครและเครือข่ายร้านค้าผู้บริจาคอาหารเหลือก่อนทิ้งทำให้ RLC สามารถกระจายอาหารให้แก่ผู้ที่ต้องการได้นับแสนปอนด์และขยายโครงการจากนิวยอร์กเมืองเดียวไปยังเมืองอื่น ๆ อีกสิบสองเมืองด้วย
จากสถิติปี 2012 ร้อยละ 40 ของอาหารที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกากลายเป็นขยะ ทั้งที่อาหารที่ยังสามารถนำมากินได้อยู่เหล่านี้จะสามารถเลี้ยงคนทั่วโลกได้นับล้าน แล้วจะทำอย่างไรให้ความเสียเปล่านี้กลายเป็นประโยชน์และไปถึงมือคนที่อดอยากและต้องการอาหารอย่างแท้จริง มีชายคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาคิดและทำอะไรบางอย่างเพื่อจัดการกับปัญหานี้และได้ผลที่น่าพอใจ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์แต่เป็นความริเริ่มและร่วมมือกันอย่างจริงจังให้โครงการนี้เป็นจริง
เพราะเคยอดจึงรู้รสชาติของความหิว เพราะเคยขาดแคลนจึงเห็นคุณค่าของสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นขยะ เมื่อมีพร้อมแล้ว ชายหนุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลีอย่างโรเบิร์ต อีก็หันหลังให้กับงานในสถาบันการเงินเอกชน ทิ้งเงินเดือนที่เป็นเลขหกหลักมาสานต่อโครงการที่เคยได้รับทุนมาทำสมัยเรียนมหาวิทยาลัย รับบริจาคอาหารที่ยังดีแต่ใกล้หมดอายุหรือเกือบเหลือทิ้งมาส่งต่อให้คนไร้บ้านเป็นการลดขยะอาหารและทำให้คนอดอยากได้อิ่มท้อง
โรเบิร์ตเกิดในครอบครัวผู้อพยพย้ายถิ่นจากเกาหลีเพื่อมาทำงานในสหรัฐอเมริกา ครอบครัวของเขาไม่ได้ร่ำรวย บางครั้งค่อนข้างลำบากด้วยซ้ำไป เพราะต้องประหยัดเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่บางทีก็จำเป็นต้องกินบะหมี่สำเร็จรูปเพื่อยังชีพ เนื่องจากมีราคาถูก เพราะความขัดสนเรื่องอาหารทำให้เรื่องที่เคยเห็นเพื่อนสมัยเรียนประถมบางคนของเขามีพฤติกรรมกินทิ้งกินขว้าง เช่น กินแซนด์วิชแค่ครึ่งชิ้นแล้วโยนที่เหลือทิ้งถังขยะ เป็นเรื่องที่ติดใจเขามาจนถึงตอนโต เนื่องจากครอบครัวของเขาสอนมาตลอดว่า การกินอาหารแล้วเหลือทิ้งเป็นสิ่งไม่ดี
จากบทสัมภาษณ์ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น โรเบิร์ตกล่าวว่า ความหิวโหยเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะมันไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ทางกายภาพ แต่ยังส่งผลต่อจิตใจด้วย โดยเฉพาะเมื่อคุณไม่รู้ว่าจะได้กินมื้อต่อไปอย่างไร เมื่อใด
หลังจบมัธยม โรเบิร์ตสามารถเข้าเรียนในคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) ได้โดยได้รับทุนการศึกษาเต็มจำนวน และได้เข้าร่วมกิจกรรมของชมรม Two Birds One Stone (ตรงกับสำนวน ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว) ที่นำอาหารไปช่วยเหลือคนไร้บ้านและคนที่ขาดแคลนอาหาร กิจกรรมของชมรมนี้จะดำเนินการห้าวันต่อสัปดาห์ โดยนำอาหารที่เหลือเพราะไม่มีใครกินจากโรงอาหารไปมอบให้ที่พักพิงสำหรับคนไร้บ้าน
ระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยและทำกิจกรรมของชมรมเกี่ยวกับอาหารเพื่อคนไร้บ้าน โรเบิร์ตกับเพื่อนร่วมชมรม คือ ลุยซา เฉิน (Louisa Chen) เข้าร่วมการแข่งขันโครงการธุรกิจและผู้ประกอบการ โดยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีวิธีการดำเนินการแตกต่างจากองค์กรที่ทำงานด้านการจัดการอาหารเหลือทิ้งอื่น ๆ คือ องค์กรที่พวกเขาจะดำเนินการจะทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์ และไม่กำหนดปริมาณขั้นต่ำของอาหารเหลือที่จะรับบริจาค ดังนั้น ซุปหนึ่งหม้อหรือชนมหนึ่งชิ้นก็สามารถนำมาบริจาคได้ทั้งนั้น ส่วนคนทำงานส่งต่ออาหารได้มาจากผู้อาสาสมัคร และโครงการของพวกเขาก็ได้รับรางวัล
เมื่อได้รับรางวัลเป็นเงินหนึ่งพันดอลลาร์สหรัฐสำหรับการดำเนินโครงการ โรเบิร์ตและลุยซาก็เริ่มก่อตั้งองค์กร Rescuing Leftover Cuisine (RLC) หรือกู้ชีวิตอาหารเหลือก่อนถูกทิ้งขึ้นในเดือนกรกฎาคม ปี 2013 โดยหลังจากจบมหาวิทยาลัย โรเบิร์ตเข้าทำงานในบริษัทด้านการเงินชื่อดังอย่างเจพีมอร์แกนและใช้เวลาว่างจากการทำงานดำเนินกิจกรรมของโครงการ RLC ที่ก่อตั้งขึ้นต่อไป และในเวลาต่อมา เขาก็ได้ลาออกจากบริษัทเพื่อทำกิจกรรมขององค์กรช่วยเหลือคนไร้บ้านและลดปัญหาอาหารเหลือทิ้งนี้อย่างเต็มตัว แน่นอนว่ามีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจนี้และบางคนก็บอกว่าเขาคงต้องเสียใจภายหลังที่ทิ้งงานนี้ไป แต่โรเบิร์ต อีก็ยืนยันว่า เขาเชื่อว่าตัวเองทำถูกต้องแล้ว และถ้าใครจะนำโครงการนี้ให้เดินต่อไปได้ ก็ควรจะเป็นเขา
ในระยะเริ่มต้นพวกเขาสามารถรวบรวมอาหารให้แก่คนไร้บ้านได้เพียงยี่สิบคน มีร้านค้าท้องถิ่นตอบรับเข้าร่วมโครงการไม่ถึงสิบร้าน แต่โรเบิร์ตก็ให้กำลังใจตัวเองว่า “ทุกคำว่า ‘ไม่’ ที่ได้รับกลับมา คือการเดินเข้าไปใกล้คำว่า ‘ได้’ อีกก้าวหนึ่ง” แล้วในที่สุดความพยายามของเขาและเพื่อนอาสาสมัครก็เป็นผล เพราะเมื่อดำเนินโครงการไปเรื่อย ๆ และได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายร้านค้าท้องถิ่นเล็ก ๆ ใกล้ตัว เช่น จากร้านของพ่อแม่ของโรเบิร์ตเอง องค์กรของเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากร้านแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ในนครนิวยอร์กอย่างสตาร์บัคส์ บวกกับอาสาสมัครที่เพิ่มขึ้นทำให้พวกเขาส่งต่ออาหารเหลือให้แก่คนไร้บ้านได้เป็นจำนวนกว่าหนึ่งตันแล้วนับแต่ดำเนินโครงการมา
จากโครงการที่เริ่มต้นจากความคาดหวังว่าจะลดขยะที่เป็นอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งสามารถเลี้ยงคนได้อีกเป็นจำนวนมากในนครนิวยอร์กลงไปให้ได้ กระแสความเคลื่อนไหวขององค์กรนี้ก็ได้ขยายออกไปยังเมืองอื่น ๆ อีก 12 เมือง และมีแอพพลิเคชันสำหรับอาสาสมัครที่จะลงทะเบียนเพื่อนำอาหารไปยังที่พักพิงของคนไร้บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตำแหน่งของตัวเอง โดยองค์กร RLC คาดหวังว่ารูปแบบของโครงการที่พวกเขาจะสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาอาหารเหลือทิ้งและลดปัญหาความอดอยากของคนทั่วโลกได้
References
- 40% of U.S. food goes to waste: One man’s solution
- LEAVING WALL STREET TO FEED THE HOMELESS–WITH CNN HERO ROBERT LEE, FOUNDER OF RESCUING LEFTOVER CUISINE
- Would You Leave a Six-Figure Job to Feed the Homeless? This 27-Year-Old Did.
- NYC non-profit rescues food from restaurants and gives it to the homeless
- Man Who Grew Up In Struggling Immigrant Household Leaves Wall Street Job To Help Homeless
Written by piyarak
Leave a Reply
Want to join the discussion?Feel free to contribute!